ความรักใน พันท้ายนรสิงห์

ความรักใน พันท้ายนรสิงห์

ก่อนจะเข้าไปพบกับความยิ่งใหญ่ของหนังแนวประวัติศาสตร์ “พันท้ายนรสิงห์” นั้น เราอยากจะขอชวนคุณให้มารู้จักกับเรื่องราวความรักในหนังเรื่องนี้ ซึ่งผู้สร้างได้ดัดแปลงมาจากบทละครเวทีพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ทรงนิพนธ์ขึ้นโดยเล่าเรื่องที่แต่งขึ้นจากเรื่องเกร็ดในพงศาวดารและประวัติศาสตร์ โดยในหนังนั้นเราจะได้พบกับความรักในหลากหลายรูปแบบ ผ่านตัวละครต่าง ๆ ในเรื่อง

 

ความรักระหว่างแม่นวลและสิน

แม่นวลและสิน

กว่าจะมาเป็นคู่ชีวิตกัน แรกนั้นทั้งสองคนต่างถูกใจกันตามประสาคนหนุ่มสาวที่อาศัยอยู่ในวิเศษชัยชาญเหมือนกัน แต่ต่อมาเมื่อมี “ทิดเดื่อ” เข้ามาสนอกสนใจนวลด้วย และท้าประลองกันกับสิน ก็ทำให้นวลได้เห็นถึงความรักและความจริงใจที่สินมีต่อตัวเองมากยิ่งขึ้น ความรักของคนทั้งคู่ค่อย ๆ ถักทอเริ่มจากความเป็นเพื่อนจนพัฒนามาเป็นคู่ชีวิต โดยระหว่างเส้นทางความรักของทั้งสองคน ผู้ชมจะได้รับรู้ผ่านประเพณีและวัฒนธรรมในอดีตที่มีความละเมียดละไมในการแสดงออกเรื่องความรักของหนุ่มสาวสมัยก่อน ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับในปัจจุบัน

มิตรภาพระหว่างพระเจ้าเสือกับสิน

พันท้ายนรสิงห์

แม้จะชอบพอผู้หญิงคนเดียวกัน คือนวล และได้ทำการเปรียบมวย ท้าประลองกันเพื่อแย่งนวล แต่เมื่อทิดเดื่อถูกลอบทำร้าย สินก็ไม่ลังเลที่จะเข้าไปช่วยเหลือโดยไม่กลัวอันตราย พระเจ้าเสือที่ปลอมพระองค์เป็นทิดเดื่อจึงประทับใจในน้ำใสใจจริงและความเป็นลูกผู้ชายของสิน จึงนับถือกันเป็นมิตรแท้ร่วมสาบาน เมื่อเลิกปลอมองค์กลับไปเป็นพระเจ้าเสืออย่างเดิมแล้ว ก็ได้เรียกให้สินมารับใช้เป็นนายท้ายเรือพระที่นั่ง หรือพันท้ายนรสิงห์ เพราะทรงไว้วางพระทัยในตัวสหายสามัญชนผู้นี้มาก ส่วนสินก็เคารพและนับถือในน้ำพระทัยของพระเจ้าเสือ จึงมีความตั้งใจที่จะรับใช้ถวายงานและซื่อสัตย์ต่อพระองค์จนถึงที่สุด

รักในความยุติธรรมและความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของสิน

สิน

เมื่อสินได้รับรู้ถึงแผนลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเสือ ซึ่งผู้คิดทำการเป็นบุคคลที่มีบุญคุณต่อสินอีกคนหนึ่ง แต่การที่จะให้สินลงมือทำตามแผนนั้นก็จะเป็นการทรยศต่อความไว้วางพระทัยของพระเจ้าเสือและทรยศต่อมิตรภาพ คำสัตย์ที่เคยร่วมสาบานกันมา ครั้นจะให้สินนำแผนการไปทูลต่อพระเจ้าเสือก็จะกลายเป็นคนที่ทำร้ายผู้มีบุญคุณต่อตัวเอง สินจึงตัดสินใจแก้ปัญหานี้ด้วยการไม่ทำตามแผนการลอบปลงพระชนม์และไม่ทูลบอกแผนนี้กับพระเจ้าเสือ ถึงแม้รู้ว่าการทำแบบนี้จะทำให้ตัวเองต้องจบชีวิตลง

เมื่อนายพันท้ายทำให้เรือพระที่นั่งเสียหายแล้ว ตามกฎจะต้องทำการลงโทษด้วยการประหารชีวิต แต่พระเจ้าเสือทรงเห็นว่าคลองนั้นคดเคี้ยวทำให้การคัดท้ายลำบาก ไม่ใช่ความผิดของสินทั้งหมด จึงทรงอภัยโทษให้ ไม่รับสั่งประหาร เพราะทรงรู้จักสินมานานและรู้นำใสใจจริงของสินว่าไม่เคยคิดปองร้าย ทำลายพระองค์อยู่แล้ว

แต่สินเห็นว่าจะไม่ยุติธรรมกับนายท้ายคนอื่นที่เคยต้องโทษประหารมาแล้ว และจะเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีต่อไปในภายหน้า กฎมณเฑียรบาลก็จะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป จึงขอร้องให้ทำการประหารตนเองเสีย การประหารตนเองเพียงชีวิตเดียวนั้นจะคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ ยุติธรรมและได้แสดงออกว่าถวายความจงรักภักดีต่อพระเจ้าเสือจนถึงที่สุด