ผู้บ่าวไทบ้าน อาสาสอนภาษาอีสานก่อนไปดูภาค 2

ผู้บ่าวไทบ้าน อาสาสอนภาษาอีสานก่อนไปดูภาค 2

ก่อนจะเข้าไปฮาสไตล์อีสานกับ “ผู้บ่าวไทบ้าน 2” ตอนแจกข้าวหาแม่ใหญ่แดง ในโรงหนังพร้อมกันทั่วประเทศนั้น ถ้าใครไม่คุ้นเคยกับภาษาอีสานหรือเป็นชาวอีสานนั้นก็คงจะฟังภาษาอีสานในตัวอย่างหนังเรื่องนี้กันลำบากนิดหนึ่ง ถึงแม้จะมีคำบรรยายภาษาไทยกลางให้อ่านและอธิบายกำกับไว้แล้วก็ตาม แต่บางครั้งก็ทำให้เกิดอาการขำดีเลย์ หรือขำช้ากว่าคนที่เข้าใจภาษาอีสานไม่ได้ ดังนั้นวันนี้เราจะขอนำเสนอภาษาอีสานที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆ มาทำอธิบายและทำความเข้าใจให้กระจ่างกันก่อน

“ไท”

แปลตรงๆ เป็นภาษากลางได้เลยว่า ชาว หรือ ผู้ที่อยู่ที่นั่น หรือหมายถึง ชนชาติไท ที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรอินโดจีน แต่ส่วนใหญ่แล้วชาวอีสานจะใช้คำนี้ในความหมายแรกมากกว่า โดยคำนี้นอกจากจะประกอบกับคำว่า “ไทบ้าน” แล้วยังตามหลังคำอื่นๆ อีก เช่น “ไทเฮา” ก็หมายความว่า พวกเรา ไม่ใช่ตำแหน่งในราชวงศ์จีนโบราณแต่อย่างใด  “ไทเขา” ก็หมายถึง พวกเขา ไม่ใช่คนจากภูเขา “ไทอุบล” หมายความว่า คนที่อยู่ในจังหวัดอุบลฯ หรือมีภูมิลำเนาที่จังหวัดอุบลฯ “ไทแขก” อันนี้ไม่ได้แปลว่าชาวอาหรับ หรือชาวอินเดีย แต่หมายถึง แขกที่มาเยี่ยมเยือนกัน มักจะไม่ได้เป็นญาติมิตร หรืออาจจะเป็นคนที่มาจากต่างถิ่นก็ได้

“เสี่ยว”

คำนี้ถ้าความหมายตามภาษากลางจะหมายถึง ความเลี่ยน ความเชย แต่ถ้าเป็นในภาษาอีสานจะหมายถึง เพื่อน มิตรสหาย ที่สนิทสนม รู้จักนิสัยใจคอกันดี จะเรียกว่าเป็นเสี่ยวกัน เสี่ยวนี้เป็นหนึ่งในประเพณีชื่อดังของจังหวัดขอนแก่น คือประเพณี “ผูกเสี่ยว” ที่หมายถึงการผูกสมัครรักใคร่ ร่วมเป็นเพื่อนตายกันนั่นเอง

“บัก” และ “อี”

ถ้าคนภาคอื่นๆ มาได้ยินคงร้องอุทานด้วยความตกใจว่าเป็นคำไม่สุภาพ หยาบคาย แต่สำหรับภาษาอีสานนั้น บัก และ อี นี้ใช้เรียกคนที่อายุเท่ากัน หรือายุน้อยกว่า บัก ใช้เรียกผู้ชาย และ อี ใช้เรียกแทนผู้หญิง บางครั้งเราอาจเคยได้ยินคำว่า อีหล่า หรือ บักหำ นั่นก็คือ การเรียกเด็กๆ ของผู้สูงอายุในภาคอีสานนั่นเอง

“ม้ม”

หมายถึง หลุด พ้น รอด ออกมาได้ เช่น ตากฝนจั่งซี้บ่ม้มเป็นไข้ (ตากฝนแบบนี้ไม่พ้นต้องเป็นไข้แน่ๆ)

“คะลำ”  “กะลำ” หรือ “ขะลำ”

คำนี้คนภาคอื่นๆ คงไม่ค่อยคุ้นชินกันเท่าไหร่ ในภาษาอีสานหมายความว่า บาปกรรม ผิดขนบจารีตประเพณี วัฒนธรรมอันดี ผิดศีลธรรม ผิดความเชื่อ เป็นสิ่งที่ต้องห้าม หรือห้ามปฏิบัติ เช่น ห้ามเดินข้ามพาข้าว (ถาดข้าว) เป็นต้น

จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายคำในภาษาอีสานที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ แต่ใน “ผู้บ่าวไทบ้าน 2” นี้ เชื่อว่าเมื่อเข้าไปดูกันแล้ว จะสามารถเข้าใจกันได้ไม่ยาก เพราะผู้สร้างได้จัดทำคำบรรยายภาษาไทยกลางเอาไว้ให้ พร้อมทั้งไม่ได้แปลความหมายแบบตรงตัว แต่เป็นการแปลให้ได้อรรถรส เพื่อให้ผู้ชมที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาอีสานได้เข้าใจและเข้าถึงบรรยากาศของชาวอีสาน และสนุกสนานไปพร้อมกันได้มากที่สุด ดังนั้นอย่าลืมเข้าไปให้กำลังใจบรรดา “ไทบ้านอีสาน” กันได้ใน “ผู้บ่าวไทบ้าน 2” ตอนแจกข้าวหาแม่ใหญ่แดง ฮาพร้อมกันทั่วประเทศ 15 กันยายนนี้